จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

AD Corruption Censored.wmv

วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

ประเทศพื้นบ้าน

ลาว" ประเทศเพื่อนบ้าน ใกล้ชิดของไทย (1)
คอลัมน์ เศรษฐกิจระบบสารสนเทศ โดย ดร.ฉวีวรรณ สายบัว ประชาชาติธุรกิจ หน้า 9 วันที่ 19 เมษายน 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 3576 (2776)

ก่อนที่จะมีโอกาสศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้รู้จักมากขึ้นและก่อนที่จะมีโอกาสเดินทางไปสัมผัสไปเห็นด้วยตาตนเอง ผู้เขียนมีความสนใจหรืออาจเรียกว่าเป็นความประทับใจในประเทศลาว (หรือชื่อประเทศในปัจจุบัน คือ สาธารณรัฐประชา ธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว) และคนลาวที่จารึกอยู่ในใจมาโดยตลอดอยู่หลายประการ

ประการแรกคือ ความประทับใจในบุคลิก ภาพหรือบุคลิกลักษณะของคนลาว (โดยเฉพาะของบุคคลในระดับผู้นำประเทศที่ได้เห็นผ่านทางจอทีวีไทยเมื่อมีข่าวอะไรเกี่ยวกับประเทศลาวและคนลาว) ที่ดูสงบ (เย็น) นิ่ง (ไม่ร้อนรน) เป็นธรรมชาติ (ไม่ปรุงแต่งไม่เคลือบด้วยอะไรที่ปลอมๆ) สุภาพเรียบร้อย (ไม่โหวกเหวก/เสียงดัง) ถ่อมตน (ไม่ทำตนโด่งดัง/ไม่ทำตนให้มีชื่อเสียง) มีศีลมีธรรม (ไม่ดูหลอกลวง) และมีหลักการ/ อุดมการณ์ที่เชื่อที่ยึดถือในชีวิตของตน

(ซึ่งดูจะตรงกันข้ามแทบจะโดยสิ้นเชิงกับบุคลิกลักษณะของคนไทยใน พ.ศ.นี้ ทั้งที่เป็นผู้นำและผู้ตาม เพราะอิทธิพลของการเลียนแบบอย่างกันที่ดูไร้บุคลิกภาพ (มีแต่การวางท่า) ร้อนรน สับสน โฉ่งฉ่าง ไร้อุดมการณ์ วัตถุนิยม ผิดเพี้ยน บ้าอำนาจ หลงตนเอง ฟุ้งเฟ้อ ชอบโอ้อวด (อวดดี อวดเก่ง อวดมั่งมี อวดร่ำรวย) ทำชีวิตเหมือน (การแสดง) ละคร บุคลิกแบบศรีธนญชัย (ขาดศีลธรรม ไม่น่าเชื่อถือ เหนือชั้น เอาตัวรอดโดยวิธีง่ายๆ และตามมาด้วยการกลายมาเป็นคนเก๊ คนปลอม เต็มบ้านเต็มเมืองกันไปหมด) และมีบุคลิกลักษณะแบบคนขาด (อยากใหญ่ อยากมีอิทธิพล อยากประสบความสำเร็จ อยากเด่นดัง อยากมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก อยากเป็นที่ยอมรับของคนอื่นมาก)

ส่วนประการที่สอง ของความสนใจหรือความประทับใจในประเทศลาวและคนลาวของผู้เขียนก็คือ ความรู้สึกที่ว่าประเทศลาวและคนลาว คือ ประเทศและผู้คนที่เรารู้สึกคุ้นเคยและเป็นกันเอง (เหมือนเพื่อนเหมือนคนที่เรารู้จักเป็นอย่างดี) น่าจะเป็นเพราะว่า (1) ทั้งไทยและลาวต่างมีรูปร่างหน้าตา ภาษา และวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิต (ดั้งเดิม) โดยทั่วไปแทบจะไม่แตกต่างอะไรกันนัก เพราะฉะนั้นทำให้การติดต่อการเดินทางไปประเทศลาวของคนไทยจึงไม่ต้องห่วงกังวล หรือสบายใจได้ว่าจะไม่มีปัญหาในเรื่องภาษาว่าจะสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง (ดังเช่นที่อาจเป็นปัญหามาก ในการเดินทางไปประเทศตะวันตก หรือแม้แต่ใน ประเทศเอเชียอื่นด้วยกัน)

และ (2) ทั้งประเทศลาวและประเทศไทยมี ประวัติศาสตร์ร่วมกันมายาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้ (แม้ในบางช่วงบางตอนของประวัติ ศาสตร์อาจขมขื่นและผิดข้องหมองใจกันบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา) เพราะมีที่ตั้งบ้านเรือนแทบจะอยู่ติดกัน ห่างกันก็เพียงแค่มีแม่น้ำโขงขั้นกลางเท่านั้น (และโดยส่วนตัวแม้แต่ครอบครัวของผู้เขียนเอง ก็ยังมีโอกาสใช้ช่วงชีวิตส่วนหนึ่ง ใกล้ชิดประเทศลาว และคนลาวในสมัยที่คุณพ่อ ซึ่งเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ถูกส่งไปรับราชการในตำแหน่งปลัดอำเภอ ที่แขวงจำปาสัก (ในสมัยที่ยังเป็นของประเทศไทย) ทำให้พวกพี่ๆ และญาติๆ ที่เป็นรุ่นโตกัน (ผู้เขียนยังไม่เกิด) มีโอกาสตามคุณพ่อไปอยู่ที่นั่นกัน ซึ่งทุกคนต่างมีความทรงจำที่ดี มีเรื่องเล่าถึงชีวิตกันที่นั่นมากมาย และต่างรอวัน และโอกาสที่จะได้กลับไปเยี่ยมเยือน เพื่อระลึกถึงความหลัง)

ประการที่สาม ของความสนใจและความประทับใจในประเทศลาวและคนลาวก็คือ แม้ลาวอาจจะเป็นประเทศเล็กที่มีประชากรเพียง 5 ล้านคนในปัจจุบัน (แต่มีขนาดพื้นที่ประเทศกว้างขวาง) และถือเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งของโลก แต่ก็เป็นประเทศที่ไม่ได้ติดอยู่กับที่โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงประเทศอะไรเลย ตรงกันข้ามมีเหตุการณ์สถานการณ์ภายในประเทศที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดตามลำดับ

จนถึงครั้งล่าสุดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างขนานใหญ่และรุนแรง คือการล้มล้างการปกครองประเทศ โดยระบอบกษัตริย์ แล้วเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยม (socialism) เฉกเช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียอื่นๆ ของไทย (ตัวอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา พม่า และจีน เป็นต้น) ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์ของการเปลี่ยนแปลงประเทศ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ที่ทำให้ต้องเสียค่าโง่ (ต้นทุน/ ค่าใช้จ่ายของการเปลี่ยนแปลง) ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างขนานใหญ่ ที่ให้บทเรียนแก่ประเทศ และประชาชนของประเทศ สำหรับการที่จะนำพาประเทศไปสู่อนาคตต่อไปอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย (ดูเหมือนจะมีแต่ประเทศไทยของเราที่ยังไม่มีประสบการณ์หรือการเสียค่าโง่เช่นนี้เลย ที่เอาประเทศรอดกันมา ก็โดยใช้วิธีการทางการทูต และเหตุการณ์นองเลือดที่เกิดขึ้นในประเทศใน เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาคม 2535 ก็ไม่ได้ช่วยให้เกิดการเปลี่ยน แปลงประเทศไทยอย่างแท้จริงอะไร)

และประการที่สี่ ของความสนใจและความประทับใจในประเทศลาวและคนลาวของผู้เขียนก็คือ เมื่อนึกถึงหรือมองดูประเทศลาวแล้ว ก็มักจะนึกเปรียบเทียบไปถึงประเทศที่มีขนาดเล็กเหมือนกัน (ในแง่ขนาดประชากรและ/หรือขนาดพื้นที่ประเทศ) อื่นๆ โดยเฉพาะที่เป็นประเทศเล็กที่มีความเจริญก้าวหน้ามาก (ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ) ดังเช่นประเทศเล็กๆ ในยุโรปตะวันตกหรืออย่างประเทศนิวซีแลนด์หรือสิงคโปร์ในทวีปเอเชียด้วยกัน

และนอกจากทรัพยากรมนุษย์ (คือประชากรลาว 5 ล้านคนที่มีอยู่ในปัจจุบัน) ลาวก็เป็นประเทศ ที่มีพื้นที่กว้างขวางและมีทรัพยากร ธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์ที่ยังไม่ได้ขุดไม่ได้เจาะเอาขึ้นมาใช้ให้เกิดค่าและประโยชน์อยู่อีกมาก และการเป็นประเทศที่พัฒนามาที่หลังหรือยังไม่ได้รีบเร่งพัฒนาประเทศมาก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้ลาวมีเวลาและสามารถที่จะเรียนรู้ประสบการณ์การพัฒนาประเทศทั้งในแง่ดีและเสียที่เกิดขึ้น จากการพัฒนาจากประเทศที่พัฒนามาก่อนทั่วโลก และจากประเทศในอาเซียนด้วยกันรวมทั้งจากประเทศไทย

จึงเกิดคำถามหรือความสงสัยขึ้นในใจของผู้เขียนว่า บุคคลในภาครัฐบาล และชนชั้นผู้นำ/ ผู้ปกครองของประเทศลาว และประชาชนลาวโดยทั่วไป มีความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติหรือมองเห็นไปอย่างไร กับการพัฒนาของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งล้อมรอบอยู่ มีแผน นโยบายหรือทิศทางที่จะพัฒนาประเทศลาวและประชาชนลาวให้ไปอย่างไร มีความต้องการ และความปรารถนาที่จะยกระดับการพัฒนาประเทศ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนลาวกันให้สูงขึ้นไป จากระดับที่เป็นอยู่หรือไม่ และท้ายที่สุดแล้วมีเป้าหมายที่อยากจะเห็นประเทศลาวและคนลาวเป็นอย่างไร (เจริญก้าวหน้าทัด เทียมอย่างเช่นประเทศที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้นหรือไม่) แล้วลาวมีปัญหา อุปสรรคและข้อจำกัดอะไรในการพัฒนาประเทศ และต้องการความช่วยเหลือและความร่วมมืออะไรจากต่างประเทศและประเทศเพื่อนบ้านล้อมรอบลาว (ไทย กัมพูชา พม่า เวียดนามและจีน)

คำถามหรือความสงสัยต่างๆ ที่ยกขึ้นมาดังข้างต้นยังหาคำตอบไม่ได้ เพราะแม้ผู้เขียนจะมีความสนใจ และความประทับใจในประเทศลาว และคนลาวหลายประการ แต่ก็ยังขาดความรู้และความเข้าใจในประเทศลาว และคนลาวอยู่มาก ซึ่งก็คงจะเช่นเดียวกับคนไทยโดยทั่วไปและรัฐบาลไทย และดังที่กล่าวนี้ก็ถูกยืนยันมาแล้ว โดยคำพูดจากปากของคนลาวเอง (คือจากปากของไกด์ลาว ที่ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยด้วย ระหว่างท่องเที่ยวอยู่ในหลวงพระบาง อันเป็นเมืองหลวงเก่าของลาว และเมืองที่เป็นมรดกโลกที่ทำให้ผู้เขียน เมื่อได้ฟังถึงกับอึ้งไปเลย) ว่า "คนลาวรู้จักคนไทย และรู้เรื่องประเทศไทยทุกอย่าง แต่คนไทยไม่รู้จักคนลาว"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น