จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

AD Corruption Censored.wmv

วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

ที่มาของโขน

กำเนิดของโขน
โขน เป็นมหรสพชั้นสูงที่ใช้แสดงในงานสำคัญๆมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกับหนังใหญ่ เชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่โบราณประมาณก่อนพุทธศตวรรษที่ 16 โดยสันนิษฐานว่า “โขน” ได้พัฒนามาจากการแสดง 3 ประเภท คือ
1. การแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์
การแสดง “ชักนาคดึกดำบรรพ์” มีกล่าวไว้ในกฎมณเฑียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงพระราชพิธีอินทราภิเษกว่า
“ในการพระราชพิธีอินทราภิเษกปลูกเขาพระสุเมรุ (หมายเหตุ : สร้างจากโครงไม้ไผ่ แล้วปิดทับด้วยกระดาษ แล้วจึงทาสีให้แลดูเหมือนภูเขา) สูงเส้นหนึ่งกับ 5 วา ที่กลางสนาม ตั้งภูเขาอิสินธร ยุคนธร สูงสักหนึ่ง และภูเขากรวิกสูง 15 วา ที่เชิงเขาทำเป็นรูปพญานาคเจ็ดเศียรเกี้ยว (หมายเหตุ : รัด)พระสุเมรุ แล้วตำรวจแต่งเป็นรูปอสูร 100 มหาดเล็กแต่งเป็นเทพยดา 100 และแต่งเป็นพาลี สุครีพ มหาชมภู และบริวารวานรรวม 103 ชักนาคดึกดำบรรพ์โดยมีอสูรชักหัว เทพยดาชักหาง ส่วนวานรอยู่ปลายหาง
ครั้นถึงวันที่ 5 ของพระราชพิธีเป็นวันกำหนดให้ชักนาคดึกดำบรรพ์ และวันที่ 6 เป็นวันชุบน้ำสุรามฤต ตั้งน้ำสุรามฤต 3 ตุ่ม ตั้งช้าง 3 ศีรษะ ม้าเผือก อศุภราช (หมายเหตุ : โคซึ่งเป็นเทพพาหนะของพระอิศวร) ครุฑธราช นางดาราหน้าฉาน ตั้งเครื่องสรรพยุทธ เครื่องช้าง และเชือกบาศ หอกชัย ตั้งโตมร ชุบน้ำสุรามฤต เทพยดาผู้เล่นดึกดำบรรพ์ พร้อมด้วยรูปพระอิศวร พระนารายณ์ พระอินทร์ พระพิศวกรรม ถือเครื่องสำรับตามธรรมเนียม เข้ามาถวายพระพร”
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เล่าเรื่อง “กวนน้ำอมฤต” ไว้ในหนังสือ ”บ่อเกิดรามเกียรติ์” ไว้ว่า
“เทวดา และอสูรอยากจะใคร่อยู่ยงพ้นจากความตาย จึงชวนกันกวนเกษียรสมุทรทำน้ำอมฤต เอาเขามนทรคีรีเป็นไม้กวน เอาพญาวาสุกรี (หมายเหตุ : พญานาคเจ็ดเศียร) เป็นเชือก พญาวาสุกรีพ่นพิษเป็นไฟพากันได้ความเดือดร้อน พระนารายณ์จึงเชิญให้พระอิศวรเสวยพิษเพื่อดับความเดือดร้อน พระอิศวรก็เสวยพิษเข้าไป (หมายเหตุ : พระศอของพระอิศวรจึงเป็นสีนิลเพราะผลแห่งพิษนั้น) เทวดา และอสูรชักเขามนทคีรีหมุนกวนไปอีก จนเขาทะลุลงไปใต้โลก พระนารายณ์จึงอวตารเป็นเต่าไปรองรับเขามนทคีรีไว้มิให้ทะลุลงไปได้อีก การกวนจึงกระทำต่อไปได้สะดวก เทวดากับอสูรทำสงครามกันชิงน้ำอมฤต พระนารายณ์ฉวยน้ำอมฤตไปเสียพ้นจากฝั่งเกษียรสมุทรแล้ว พวกอสูรมิได้กินน้ำอมฤตก็ตายในที่รบเป็นอันมาก เทวดาจึงได้เป็นใหญ่ในสวรรค์”
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงประทานอธิบายไว้ว่า การแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์นี้ เป็นการแสดงตำนานทางไสยศาสตร์เพื่อให้เกิดสวัสดิมงคล

2. การแสดงกระบี่กระบอง
ในสมัยโบราณคนไทยจะฝึกวิชาการต่อสู้ไว้สู้รบกับข้าศึก และเพื่อป้องกันตัว อาวุธที่ใช้ในการต่อสู้ก็มีทั้งอาวุธสั้น และอาวุธยาว เช่น มีด ดาบ หอก ไม้พลอง ฯลฯ อันเป็นที่มาของวิชากระบี่กระบอง วิชากระบี่กระบองนอกจากเป็นศิลปะการป้องกันตัวในสมัยโบราณแล้ว ยังสามารถนำไปแสดงเป็นมหรสพได้อีกประเภทหนึ่ง จนกระทั่งได้รับการปรับปรุงนำมาผสมผสานกับการแสดงโขนในเวลาต่อมา

3. การแสดงหนังใหญ่
การแสดงหนังใหญ่ เป็นมหรสพที่สำคัญในสมัยอยุธยาตอนต้นดังมีปรากฎในกฎมณเฑียรบาล หนังใหญ่นั้นตัวหนังจะทำจากหนังวัวฉลุเป็นรูปตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ มีไม้ผูกทาบตัวหนังไว้ทั้งสองข้างโดยผูกให้พ้นตัวหนังลงมาพอสมควรเพื่อใช้มือจับสำหรับเชิด หนังใหญ่ให้อิทธิพลกับโขน 2 อย่างคือ เรื่องราวที่ใช้แสดงเป็นเรื่องรามเกียรติ์ และลีลาการเชิดหนังซึ่งยอมรับกันว่าเป็นท่าแสดงของโขนในเวลาต่อมา โดยเฉพาะบทยักษ์หรือที่เรียกกันว่า “เต้นโขน”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น