จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

AD Corruption Censored.wmv

วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

สะพานข้ามแม่น้ำแคว

ประวัติ สะพานข้ามแม่น้ำแคว
สะพานข้ามแม่น้ำแคว



สะพานข้ามแม่น้ำแคว เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก เนื่องจากประวัติศาสตร์การก่อสร้างสะพานแห่งนี้ เกี่ยวพันกับเหตุการณ์เมื่อครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยกองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกพันธมิตรจำนวนมากมาก่อสร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์เพื่อผ่านไปยังประเทศพม่า เริ่มต้นจากสถานีหนองปลาดุก อ. บ้านโป่ง จ. ราชบุรี ผ่านสถานีต่าง ๆ ใน จ. กาญจนบุรี เพื่อลำเลียงยุทธปัจจัยและกำลังทหารไปยังพม่า เส้นทางเมื่อข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแควไปแล้วจะเลียบไปตามลำน้ำแควน้อย ผ่านโตรกผาบริเวณที่เรียกว่าถ้ำกระแซ ซึ่งเป็นทางโค้งเลียบนหน้าผา ด้านหนึ่งเป็นแม่น้ำที่เชี่ยวกราก บางช่วงต้องขุดเจาะระเบิดภูเขาเป็นช่องให้รถไฟผ่านไป
การสร้างทางรถไฟสายนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก ความทารุณของสงครามและโรคภัย ตลอดจนการขาดอาหาร ทำให้เชลยศึกชาวตะวันตกได้แก่ อังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย และฮอลันดา และกรรมกรรถไฟหลากเชื้อชาติต้องสังเวยชีวิตไปเป็นจำนวนจำนวนหลายหมื่นคน จนมีการเปรียบเทียบว่าหนึ่งไม้หมอนของทางรถไฟสายมรณะคือหนึ่งชีวิต ซึ่งยังทิ้งร่องรอยไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเป็นจำนวนมากในเรื่องราวความเป็นมาในอดีต
ที่ตั้ง บ้านท่า-มะขาม ต. ท่ามะขาม อ. เมือง
ประวัติ ทหารช่างญี่ปุ่นเลือกสร้างสะพานที่บริเวณนี้เนื่องจากมีฐานดินด้านล่างแน่นที่สุด โดยใช้แรงงานเชลยศึกและกรรมกรรับจ้างจำนวนมาก การก่อสร้างเริ่มจากการสร้างสะพานไม้เพื่อลำเลียงคนและอุปกรณ์ก่อสร้างทางรถไฟข้ามไปก่อน โดยสร้างในช่วงที่น้ำลดลงตอนปลายเดือนพ.ย. 2485 โดยใช้ไม้ซุงทั้งต้นตอกเป็นเสาเข็ม ใช้เวลาก่อสร้าง 3 เดือน และได้รื้อออกไปหลังจากสร้างสะพานเหล็กแล้ว (ปัจจุบันแนวสะพานไม้เดิมอยู่ห่างจากสะพานข้ามแม่น้ำแควลงไปทางใต้ประมาณ 100 ม. ในพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2
ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำแควใช้เวลาสร้างเพียง 1 ปี โดยนำเหล็กจากมลายูมาประกอบเป็นชิ้น ๆ ตอนกลางทำเป็นสะพานเหล็ก 11 ช่วง หัวและท้ายเป็นโครงไม้ ตัวสะพานยาวประมาณ 300 ม.สร้างเสร็จและทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2486
สะพานข้ามแม่น้ำแควถูกทหารฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทางอากาศทั้งสิ้นราว 10ครั้งในระหว่างสงคราม จนกระทั่งสะพานช่วงที่ 4-6 ชำรุด และไม่สามารถใช้การได้ ต่อมาการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ปรับปรุงขึ้นใหม่จากของเดิม โดยตอนกลางทำเป็นสะพานเหล็กสองช่วง ส่วนด้านหัวและท้ายเปลี่ยนเป็นสะพานเหล็กหกช่วงแทน
หากเรามองผ่าน ความปวดร้าว ในอดีต จะมองเห็นทิวทัศน์ ตลอดสองเส้นทางที่สวยงาม โดยเฉพาะบริเวณถ้ำกระแซ ที่เส้นทางรถไฟ จะลัดเลาะผ่านไปตามหน้าผา เลียบไปกับแม่น้ำแควน้อย ความงดงาม ของธรรมชาติ กับจำนวนเลือดเนื้อ ที่ต้องสูญเสียในอดีต ทำให้เส้นทางรถไฟสายนี้ มีค่ายิ่ง ในความทรงจำ ของกลุ่มคนที่ส่วนเกี่ยวข้อง และร่วมสูญเสีย หรือแม้แต่คนที่มีโอกาสได้ผ่านมา และร่วมรับรู้ ถึงข้อเท็จจริงในอดีต ปัจจุบันเส้นทางสายนี้ ไปสุดปลายทางที่บ้านท่าเสาหรือสถานีน้ำตก ระยะทางจากสถานี กาญจนบุรีถึงสถานีน้ำตก เป็นระยะทางประมาณ 77 กิโลเมตร


จังหวัดกาญจนบุรี การรถไฟแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และองค์กรรัฐเอกชนในจังหวัดกาญจนบุรี ได้กำหนดจัด “งานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว ประจำปี 2550” ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน 2550 – 9 ธันวาคม 2550 บริเวณ สะพานข้ามแม่น้ำแคว อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ภายในงานจะจัดให้มีการแสดงแสง เสียง อย่างอลังการ จำลองเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 (มหาเอเชียบูรพา) ด้วยเทคนิคไฟ แสง สี เสียง มหึมายิ่งใหญ่กว่าทุก ๆ ปี ที่ผ่านมา การประกวดนางงามสันติภาพ ขบวนแห่บุปผชาติ การจัดการแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงคอนเสิร์ตจากค่ายเพลงชั้นนำระดับประเทศ การออกร้านสุดยอดของดีเมืองกาญจน์ “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” การจำลองวิถีชีวิตกาญจนบุรีจากอดีตสู่ปัจจุบัน ฯลฯ ตลอดจนการแสดงอื่น ๆ อีกมากมาย บนเนื้อที่จัดงานกว่า 180 ไร่
โดยในงานมีการแสดง แสง สี เสียงจำลองเหตุการณ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (สงครามมหาเอเชียบูรพา) ที่กองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกพันธมิตรมาสร้างทางรถไฟและฝ่ายพันธมิตรได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดทำลายสะพาน เพื่อตัดเส้นทางรถไฟที่เดินทางสู่ประเทศพม่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น